พัฒนาการทางภาษาเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราไม่อาจไปเร่งรัดหรือบังคับได้ เด็กบางคนพูดเมื่อพร้อมที่จะพูด บางคนเริ่มพูดเร็ว บางคนเริ่มพูดช้า ไม่เกี่ยวกับความสามารถของสมองหรือระดับสติปัญญา คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเครียดกังวล กระตุ้นพัฒนาการของลูกตั้งแต่ช่วงปีแรกไปเรื่อยๆ ด้วยเคล็ดลับต่อไปนี้
- เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการพูดคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดู ควรพูดคุยกับลูกด้วยคำพูดที่กระชับ ออกเสียงอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย
- พูดคุยกับลูกบ่อยๆควรหาเวลาในการพูดคุยกับลูกบ่อยๆ โดยเฉพาะการพูดคุยในสิ่งที่ลูกกำลังสนใจอยู่
- ไม่ตอบสนองความต้องการของลูกเร็วเกินไปจากอากัปกิริยาที่ลูกแสดงให้เห็นหากลูกแสดงท่าทางบอกความต้องการ คุณพ่อคุณแม่ควรหยุดรอ และเปิดโอกาสให้ลูกได้พยายามสื่อสารด้วยคำพูด ก่อนที่จะตอบสนองต่อความต้องการนั้นๆ เช่น หากลูกทำท่าชี้ไปที่ขวดนม แทนที่จะหยิบขวดนมแล้วยื่นให้ลูกทันที คุณพ่อคุณแม่ควรจะหยิบขวดนมขึ้นมาแล้วรอให้เด็กได้พูดคำว่านม ก่อนที่จะยื่นขวดนมให้แก่เด็ก เป็นต้น
- อ่านนิทานให้ลูกฟังและให้ลูกได้มีส่วนร่วมกับการอ่านนิทานนั้น การอ่านนิทานเป็นวิธีที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีมากวิธีหนึ่ง ในเด็กเล็กๆ คุณพ่อคุณแม่อาจเล่านิทานด้วยภาษาที่สั้นๆ เข้าใจง่าย อาจทำท่าทางประกอบหรือทำเสียงให้ดูน่าตื่นเต้นหรือน่าสนใจ หากลูกน้อยเริ่มโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่าเรื่องให้มีความซับซ้อนขึ้น รวมถึงอาจมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับนิทานที่กำลังอ่านอยู่กับลูกเป็นระยะ เพราะนอกจากลูกจะได้ความสนุก ได้เพิ่มคลังคำศัพท์ ได้ฝึกเชื่อมโยงคำศัพท์กับรูปภาพ ลูกยังได้ฝึกคิดวิเคราะห์อีกด้วย
- หลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยจอปัจจุบันการเลี้ยงลูกด้วยจอ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ แทปเล็ต หรือคอมพิวเตอร์เป็นที่นิยมของคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยหลายๆ แห่งชี้ให้เห็นว่าการใช้สื่อผ่านจอต่างๆ เหล่านี้ มีผลต่อพัฒนาการด้านภาษา โดยอาจมีปัญหาพูดช้า หรือมีการสื่อสารไม่เหมาะสมตามมาได้
หากสงสัยว่าลูกน้อยมีปัญหาการพูด เช่น พูดช้า พูดไม่ชัด พูดซ้ำคำ พูดติดอ่าง เป็นต้น แนะนำให้เข้ามาปรึกษากุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม เพื่อทำการประเมิน และส่งฝึกแก้ไขการพูดให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก โรงพยาบาลพญาไท และBaby Love
Add comment
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น